#midwest2018 – Chat Room – Japan’s School Bands: Building Character Through Shared Goals of Excellence (วงดุริยางค์โรงเรียนญี่ปุ่น: สร้างบุคลิกภาพผ่านการมีเป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน)
#midwest2018 หัวข้อ Chat Room – Japan’s School Bands: Building Character Through Shared Goals of Excellence (วงดุริยางค์โรงเรียนญี่ปุ่น: สร้างบุคลิกภาพผ่านการมีเป้าหมายแห่งความสำเร็จร่วมกัน) บรรยายโดย Aki Murakami และ Mark Humphreys (ตัวแทนจาก Bravo/Brain Music บริษัทเรื่องการจำหน่ายโน้ต และ สื่อการสอนของวงดุริยางค์ญี่ปุ่นออกสู่ตลาดโลก)
สำหรับหัวข้อการบรรยายแบบ Chat Room จะเป็นการถามตอบระหว่างผู้เข้าร่วมฟัง และ วิทยากร ดังนั้นในบทความนี้ผมจะขอแบ่งออกเป็นตามคำถามที่ผู้เข้าร่วมฟังถามนะครับ
[ช่วงเกริ่นนำ]
วิทยากรได้หยิบยกภารกิจของวง Tokyo Kosei Wind Orchestra ในปีค.ศ. 1985 ความว่า “The orchestra’s fundamental philosophy is for its musicians to attain ever-higher levels of musical excellence through constant improvement in personal character. Its permanent objective is to utilise music to cultivate rich human feeling and to make an important contribution to a more positive and progressive society (ปรัชญาพื้นฐานของวงคือการให้นักดนตรีในวงบรรลุถึงศักยภาพความดีเลิศทางดนตรีในระดับสูงผ่านการพัฒนาลักษณะส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายถาวรของวงคือการใช้ดนตรีเพื่อปลูกฝังความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และสร้างคุณูปการต่อการสร้างสังคมเชิงบวก และ สังคมที่ก้าวหน้า)” ซึ่งภารกิจนี้เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาดนตรีของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
การเรียนการสอนวงดุริยางค์ในญี่ปุ่น (รวมถึงกิจกรรมชมรมหลังเวลาเลิกเรียนอื่นๆ เช่น คินโด้, การว่ายน้ำ ฯลฯ) จะเน้นถึงเรื่อง: การเน้นย้ำถึงคอนเซปเดิม, การบรรลุถึงความดีเลิศไปด้วยกันเป็นหมู่คณะ, สังคมร่วมกัน และ ความเป็นเลิศในทักษะ
แนวคิดหลังที่ใช้ในกิจกรรมชมรมนักเรียนคือ
1. การทุ่มเท เสียสละอย่างมีจุดมุ่งหมาย (Divotion to the Purpose)
2. การเสียสละ (Selflessness)
3. ระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง (ญี่ปุ่น: 先輩, 後輩 อังกฤษ: Senpai and kōhai)
โดยสิ่งที่นักเรียนจะได้รับคือ
1. ระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง จะเป็นการฝึกฝนให้นักเรียนปลูกฝังวัฒนธรรมของวงจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจากระบบรุ่นพี่ รุ่นน้องนี้จะทำให้การดูแลวงส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของนักเรียน ในขณะที่ครูผู้ดูแลวงจะปรับเพลง และ ดูในภาพรวมมากกว่า
2. ทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งหากหน้าที่นั้นล้มเหลวแล้ว จะทำให้ความก้าวหน้าของทุกคนช้าลงไปด้วย
[ช่วงคำถาม-ตอบ]
ถ: กิจกรรมดนตรีในประเทศสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในเวลาเรียน ในขณะกิจกรรมของญี่ปุ่นจะเป็นในรูปแบบชมรม นักเรียนเมื่อเข้าชมรมใหม่ๆ จะมีทัศนคติอย่างไร
ต: นักเรียนจะสมัครเข้าชมรมด้วยตัวเอง โดยที่วงจะสร้างความเชื่อใจว่า “เข้ามาเถอะ พวกเราจะดูแลเธอเอง ขอให้เธอทำให้เต็มที่ตลอดสามปีแล้วกัน (โรงเรียนที่ญี่ปุ่นจะแยกป.ต้น ป.ปลาย ม.ต้น และ ม.ปลาย)” โดยที่วงจะมีการฝึกรุ่นพี่ที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรม และ การฝึกสอนของอาจารย์ประจำวง ซึ่งลักษณะแบบนี้เองจะเป็นการปลูกฝังจิตวัญญาณที่ดีในตัวนักเรียน และ ลดทอนอีโก้ในตัวของนักเรียนลง
ถ: ระบบโรงเรียนที่ญี่ปุ่นได้สร้างวัฒนธรรมของการดูแลโรงเรียนในหมู่นักเรียน (นักเรียนเป็นผู้ทำความสะอาดโรงเรียนเอง) ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่เป็นเช่นนั้น แล้วจะทำกระบวนการแบบนี้มาปรับใช้ที่อเมริกาได้อย่างไร
ต: อธิบายผู้ปกครองให้เข้าใจถึงกระบวนการนี้ว่า มันเป็นการสร้างความเป็นผู้ใหญ่ในตัวนักเรียน โดยที่นักเรียนญี่ปุ่นทุกคนต้องรับผิดชอบทั้งต่อตนเอง และ ส่วนรวม
ถ: อนิเมะเรื่อง Hibike! Euphonium ตรงกับสภาพความเป็นจริงขนาดไหน
ต: จริงเลยทีเดียว
ถ: นักเรียนสามารถเลือกที่จะไม่เข้าร่วมชมรมได้หรือไม่
ต: ปกติแล้วนักเรียนทุกคนจะมีชมรมของตนเอง (เนื่องจากกิจกรรมชมรมต้องทุ่มเทเป็นอย่างมาก จึงเลือกได้แค่อันเดียว) ซึ่งสำหรับโรงเรียนเอกชนจะจริงจังของเรื่องนี้มากถึงขนาดว่า ทุนการศึกษาของนักเรียนจะมาจากผลการดำเนินงานของชมรมไม่ใช่จากเกรดนักเรียน
ถ: เราจะจัดการให้นักเรียนทำหน้าที่ได้อย่างไร
ต: แบ่งงานออกเป็นหลายๆ ส่วนเพื่อที่นักเรียนจะได้สามารถทำได้ด้วยตนเองได้ ตัวอย่างเช่น ทริปการเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา นักเรียนเป็นผู้จัดการดูแลความเรียบร้อยเองทั้งหมด! ซึ่งประเทศที่มีคอนเซปของการอยู่ร่วมกันจะใช้วิธีการนี้ได้ผล
ถ: นักเรียนมีวิธีการเลือกเครื่องดนตรีอย่างไร
ต: 1) นักเรียนที่เข้าวงมาใหม่จะคุยกับ เซนไป (รุ่นพี่) และ เซนไปจะพาไปคุยกับครูประจำวง 2) ให้นักเรียนลองเลือกเครื่องดนตรีที่ตนเองสนใจ และ เหมาะสม
ถ: ภายหลังชีวิตในรั้วโรงเรียนแล้ว นักเรียนยังคงเล่นดนตรีไหม
ต: กิจกรรมชมรมไม่ได้มีเป้าหมายว่าจบไปแล้วนักเรียนต้องเป็นนักดนตรี เพราะชมรมทุกชมรมมีเป้าหมายเพื่อสร้างให้นักเรียนเป็นคนที่ดีขึ้นไป รุ่นพี่เมื่อถึงช่วงจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะ “เกษียณ” จากวงเพื่อไปเตรียมสอบได้ ดนตรีทำให้นักเรียนเป็นคนที่ถูกขัดเกลาแล้ว ดังนั้นเมื่อจบไปแล้วเขาก็สามารถประกอบอาชีพอะไรก็ได้ ซึ่งภายหลังจากที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแล้ว ตามบริษัทต่างๆ ที่ญี่ปุ่นก็มักจะมีวงของบริษัทเอง และ มีวงชุมชนต่างๆ (ญี่ปุ่นมีวงดุริยางค์เครื่องลมประมาณ 14,000 วง) แต่ปัญหาของวงเหล่านี้คือการหาสถานที่แสดง เนื่องจากหอแสดงมักจะเต็มอยู่บ่อยครั้ง
ถ: นอกจากการใช้เครื่อง Harmony Director แล้ว สามารถใช้วิธีอื่นได้หรือไม่
ต: สามารถปลูกฝึกเครื่องวัฒนธรรมการเป็นแบบอย่าง (รุ่นพี่-รุ่นน้อง) และ การทำซ้ำบ่อยๆ ทำให้ชำนาญ เวลาฝึกซ้อมของวงส่วนใหญ่จะเป็นเวลาของรุ่นพี่-รุ่นน้อง มีครูจากญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่า “จะให้นักเรียนฟังฉันพูดหนึ่งชั่วโมง หรือ จะให้นักเรียนใช้เวลาที่มีประโยชน์มากกว่าล่ะ”
ถ: ตารางการฝึกซ้อมปกติเป็นอย่างไร
ต: โรงเรียนหลายๆ โรงเรียนที่ญี่ปุ่นไม่มีห้องดุริยางค์เป็นของตัวเอง ดังนั้นสถานที่เรียนจะเป็นห้องดนตรีของโรงเรียน ตารางการฝึกซ้อมจะเป็นดังนี้
1)โรงเรียนเลิก 14:30 นักเรียนแยกซ้อมส่วนตัว หรือ เซ็กชั่น 2) นักเรียนเข้ามาทำความสะอาด และ จัดห้องเรียน 3) นักเรียนวอร์มวงด้วยตัวเอง 4) ครูผู้สอนเข้ามาซ้อม
ถ: แล้วรุ่นพี่ได้รับการฝึกในแบบไหนเพื่อให้สามารถปฏิบัติกับรุ่นน้องได้อย่างถูกต้อง
ต: ฝึกฝนให้พวกเขารู้จักการปลูกฝังให้รุ่นน้อง และ [ครูผู้สอน]ฝึกฝนให้รุ่นน้องฟังรุ่นพี่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความกลมเกลียวให้เกิดขึ้นในวง และที่สำคัญคือครูผู้สอนต้องเรียนรู้ที่จะไว้ใจนักเรียน วิทยากรได้กล่าวว่า “ลองให้โอกาสพวกเขาดูสิ และพวกเขาจะหาวิธีการของตนเองได้! (Give them a chance, they’ll find the way)”
ถ: ทำไมวงดุริยางค์เครื่องลมถึงเป็นที่นิยมมากกว่าออร์เคสตราเครื่องสาย
ต: เครื่องสายต้องอาศัยความใส่ใจ และ การศึกษาเชิงลึกมากกว่า อีกทั้งเครื่องสายต้องมีครูผู้สอนรายคน (private teacher) เพื่อดูแลนักเรียนทีละคน ดังนั้นวงดุริยางค์เครื่องลมจะทำได้ง่ายกว่า นักเรียนมีโอกาสรวมวงมากกว่า ในขณะนี้นักเรียนเครื่องสายกว่าจะได้รวมวงก็ต้องไปออดิชั่น หรือ เข้ามหาวิทยาลัย
ถ: เราจะ “ประเมิน” นักเรียนอย่างไร (ขยาย: ที่อเมริกากิจกรรมวงดุริยางค์เป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน ดังนั้นก็จะมีผลการเรียนประกอบด้วย)
ต: ความสำเร็จมาจากการทำสิ่งต้องๆ รุ่นพี่เป็นผู้จัดการทุกอย่าง และ นักเรียนทุกคนรู้บทบาทของตนเอง ดังนั้นการประเมินจะไม่ได้มาจากการวัดผลการประกอบการเลย แต่เป็นการดูความพยายามของนักเรียน
ถ: สภาพจิตใจของนักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง มีขัดแย้งกันบ้างไหมระหว่างเวลาเรียน และ เวลาชมรม
ต: กิจกรรมชมรมเป็นสิ่งที่ปลดปล่อยนักเรียนจากชีวิตในการเรียน ดังนั้นนักเรียนจะทุ่มเทให้กับชมรมมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันเริ่มมีกฏหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมเวลาชมรม
ถ: แล้วการสนับสนุนจากภาครัฐเป็นอย่างไร
ต: ภาครัฐไม่ได้สนับสนุนเงิน ถ้าภาคเอกชนจะมาสนับสนุนวงเขาจะมาด้วยตนเอง ดังนั้นโรงเรียนต้องเป็นผู้หาทุนด้วยตนเอง
บรรณานุกรม:
– Hebert, David G. Wind Bands and Cultural Identity in Japanese Schools. Place of Publication Not Identified: Springer, 2014.