บทเพลงสร้างขึ้นจากอะไร (Composition Process, Elements of Music)
เผยแพร่ ณ เพจ Empower Music by PK
บทความตอนที่ผ่านมา เราพูดถึงหนังสือเรื่อง “What to Listen for in Music” โดย Aaron Copland ที่แนะนำเกี่ยวกับระดับต่างๆ ของการฟังไป ครั้งนี้เราจะมาไขข้อสงสัยซึ่งสัมพันธ์กับการฟังเพลงว่า “บทเพลงสร้างขึ้นจากอะไร” และ “ในดนตรีมีองค์ประกอบอะไรบ้าง”
โคปแลนด์ได้ชวนผู้อ่านเข้ามาชมในโลกของนักประพันธ์เพลง ผู้ฟังอ่านหลายคนอาจเคยสงสัยว่า นักประพันธ์เพลงเขาคิดยังไง อะไรคือกระบวนการในการสร้างสรรค์ผลงานของเขา นักประพันธ์เพลงแต่ละคนล้วนแล้วแต่มีวิธีการเริ่มต้นที่ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่อาจเริ่มต้นคล้ายกันคือเริ่มจาก “ไอเดียดนตรี (musical idea)” ไอเดียนั้นอาจเป็นทำนองของบทเพลง อาจเป็นกลุ่มจังหวะ หรืออาจเป็นเสียงต่างๆ ที่ผู้ประพันธ์ได้ยินในหัว แล้วนำเสียงเหล่านั้นเขียนลงไปเป็นโน้ตดนตรี
ผู้ประพันธ์ได้นำไอเดียดนตรีมาพัฒนาต่อ โดยอาจเติมเสียงประสานลงไป มีเสริมแนวเสียงต่างๆ ซึ่งนักประพันธ์แต่ละคนก็มีกระบวนวิธีการที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Schubert สามารถเขียนทำนองเพลงร้องออกมาได้อย่างสวยงาม Beethoven สามารถนำไอเดียดนตรีเล็กๆ มาพัฒนาขยายจนกลายเป็นซิมโฟนีที่ยิ่งใหญ่ได้ Bach นำไอเดียดนตรีมาผ่านกระบวนการประพันธ์เพลงตามแบบวิถีปฏิบัติดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีนักประพันธ์เพลงอีกมากมายหลายคนที่เป็นนักนวัตกรรม ซึ่งนำพาดนตรีไปในพรมแดนใหม่จากในยุคสมัยของตนเอง เช่น Stravinsky, Debussy, Schoenberg, Varèse, ฯลฯ
โคปแลนด์ได้อธิบายต่อถึงองค์ประกอบพื้นฐานสี่อย่างที่มีอยู่ในดนตรี (อาจมีผู้อ่านบางท่านเห็นต่างว่าอย่างมีอย่างอื่นอีก—ซึ่งผมก็เห็นด้วยเช่นกัน และไว้จะเขียนเป็นบทความแยกอีกครั้ง) ได้แก่ จังหวะ (rhythm) ทำนอง (melody) เสียงประสาน (harmony) และ สีสันเสียง (tone color) ซึ่งองค์ประกอบทั้งสี่อย่างนี้เป็นวัตถุดิบที่นักประพันธ์นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีของตน
ในขณะที่ดนตรีกำลังบรรเลง องค์ประกอบพื้นฐานเหล่านี้จะทำงานควบคู่กันไป บางบทเพลงก็มาทุกองค์ประกอบ บางบทเพลงก็อาจจะมาแค่บางองค์ประกอบ หากผู้ฟังมีความเข้าใจในองค์ประกอบแต่ละอย่างแล้ว จะทำให้สามารถฟังดนตรีได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น การอธิบายในแต่ละองค์ประกอบนั้นมีรายละเอียดสำคัญค่อนข้างมาก เพื่อไม่ให้บทความนี้ยืดยาวจนเกินไปเลยขออนุญาตมาเล่าแบบละเอียดอีกครั้งในบทความต่อไปนะครับ
เพลงที่แนะนำให้ลองฟังดู
Franz Schubert—Erlkönig (https://www.youtube.com/watch?v=XoBo8dlPcQo)
Ludwig van Beethoven—Symphony No. 5 (https://www.youtube.com/watch?v=yKl4T5BnhOA)
Arnold Schoenberg—Pierrot Lunaire, Op. 21., I. Mondestrunken (https://www.youtube.com/watch?v=YbTn7Y9XAhA)
Edgard Varèse—Ionisation (https://www.youtube.com/watch?v=1lpAXz79oAI)
เรื่อง: วิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ Viskamol Chaiwanichsiri
เพจ: https://www.facebook.com/viskamol.ch
เว็บไซต์: https://viskamol.com