#midwest2018 กับการเข้าร่วมสังเกตการณ์ Masterclass โดย Robert Reynolds กับ Kevin Sedatole
วันแรกสำหรับงาน #midwest2018 กับการเข้าร่วมสังเกตการณ์ Masterclass โดยอ. Robert Reynolds กับ Kevin Sedatole ได้มีวาทยกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาร่วม Masterclass ครั้งนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีคนไทยด้วย นั่นคือ อ.กิฟท์ Pamornpan Komolpamorn นั่นเอง ก็เลยอยากขอนำหัวข้อต่างๆ ที่วิทยากรทั้งสองท่านได้พูดถึงในภาพรวมมาแบ่งปันกันครับ
เพลงที่ใช้ใน Masterclass ครั้งนี้มี
– Suite in B-flat major, Op.4 (Strauss, Richard)
– Divertissement, Op.36 (Bernard, Émile)
1. Conducting (การอำนวยเพลง)
– More specific, less control: คอนดักเตอร์บางท่านได้มีการให้จังหวะ และ ควบคุมจังหวะในทุกๆ บีท (beat) ของบทเพลง (ให้เป็น pattern ตลอดเวลา) ทำให้ตัวดนตรีที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้น ถูกควบคุมไว้ทุกอย่าง จนทำให้ดนตรีในภาพรวมต่อเนื่องจนเกินไป และ ขาดท่าทางในการที่จะดึงบางช่วงขณะที่สำคัญของบทเพลงออกมา วิทยากรเลยแนะนำให้ “ลดการให้จังหวะลง และ เจาะจงในส่วนที่ต้องการให้มากขึ้น”
– เวลาอำนวยเพลงไม่จำเป็นที่จะต้องให้จังหวะตลอดเวลา (Don’t conduct everytime) เนื่องจากวง [เช่น ในวงสาธิต หรือ วงที่เข้าใจบทเพลงในระดับหนึ่งแล้ว] สามารถเล่นได้ด้วยตัวเองแล้ว วาทยกรจึงสามารถลดการให้จังหวะในระดับย่อย และ เปลี่ยนเป็นการทำท่าทาง (gesture) ที่จะสื่อใจความดนตรีที่วาทยกรต้องการจะนำเสนอออกมามากกว่า
– Less conducting in the piano and difficult passage because the players are suffering enough. ลดการคอนดักต์ในช่วงที่เบา และ ในท่อนที่โน้ตยาก เนื่องจากว่า “ผู้เล่นก็เหนื่อยจากการเล่น” มาเพียงพอแล้ว ไม่ควรต้องมีการให้จังหวะมารบกวนการเล่นของพวกเขา
– Even though when you are not conducting, the pulse showed through the movement. แม้ในบางครั้งที่ท่าทางไม่ได้เป็นการแสดงถึงจังหวะ แต่ชีพจร (pulse) ที่เกิดขึ้นภายในมันจะถูกถ่ายทอดออกมาภายในการเคลื่อนไหลอยู่แล้ว (เสริม: แต่วาทยกรก็ต้องคุมจังหวะภายในใจให้คงที่เช่นกัน)
*อ.โต้ง ช่วยเสริมให้ว่า “ทั้งนี้การไม่คอนดักต์มักจะใช้ในกรณีที่เป็นเพลง Chamber หรือ ในบทเพลงที่นักดนตรีทุกคนคุ้นเคยกับบทเพลงแล้ว การเลือกใช้ Gesture และ/หรือ ไม่ใช้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของวาทยกร และ ตัวบทเพลง”*
2. Posture and Gesture (ท่าทาง)
– วาทยกรบางคนจะมีแนวโน้มในการโน้มตัวเข้าไปหาวงโดยไม่รู้ตัว เช่น เวลาต้องการให้วงดังขึ้น หรือ สร้างความเข้มข้นของตัวดนตรีขึ้น (บิ้ว) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ท่าทางเหล่านี้จะทำให้วาทยกรสูญเสีย “อำนาจในการสั่งการ” (sense of command) ไป วิทยากรแนะนำให้ยืนตัวตรง (stand tall) ยืดร่างกายส่วนบนขึ้นมากกว่า
– Experiment with plane วาทยกรบางคนที่มีเทคนิคที่ดีจะจำกัดพื้นที่ในการอำนวยเพลง (plane) ไว้ให้พอดีกับร่างกายของตัวเอง (โดยมากจะอยู่ด้านหน้าของตนเอง) แต่วิทยากรได้แนะนำว่าให้ลองทดลองปรับเปลื่ยนพื้นที่ตรงส่วนนี้ดูบ้าง เพื่อช่วยให้ดนตรีมีความลึกมากขึ้น (deepness) มีวาทยกรบางคนที่ตำแหน่งของมือ และ ข้อศอกค่อนข้างต่ำ และ ถอยมาด้านหลัง วิทยากรก็ได้แนะนำให้ยื่นออกมาด้านหน้ามากขึ้น
– Don’t be big all the time, เวลาอำนวยเพลงอย่าวาดท่าทางที่ใหญ่อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากจะทำให้ทุกท่าดูเหมือนกันไปหมด และ เวลาที่มีช่วงเวลาที่สำคัญจะทำให้แสดงออกมาอย่างไม่ค่อยชัดเจน
– Gesture-oriented, ask by gesture to the players ให้การอำนวยเพลงเป็นสิ่งที่ช่วยแสดงแนวคิตทางดนตรีที่วาทยกรต้องการจะนำเสนอออกมา เวลาต้องการให้ผู้เล่นปฏิบัติอย่างไร ก็ควรจะต้องอำนวยเพลงโดยใช้ท่าทางแบบนั้น เช่น Softer: come closer to face, เวลาอำนวยเพลงที่เบา ให้นำท่าทางเข้าหาร่างกายตัวเองมากขึ้น
– Ictus is accent for wind player: การสะบัดข้อมือเพื่อแสดงจังหวะที่ชัดเจนขึ้น หรือ อิคตุส (ictus) เมื่อกระทำแล้ว ในกรณีที่เป็นวงเครื่องลมจะเป็นการแสดงออกว่าให้ผู้เล่นเน้นเสียง ซึ่งในบางบทเพลงเมื่อนำมาใช้แล้วค่อนข้างผิดแปลกไปจากตัวดนตรี (Music doesn’t call for it) เช่น ในการอบรมนี้มีเพลงบังคับเป็น Strauss Suite in Bb ท่อนช้า ซึ่งต้องอาศัยการสร้างประโยคเพลงที่ legato มาก มีวาทยกรท่านหนึ่งใช้ ictus ที่มากจนเกินไป ทำให้ดนตรีขาดความต่อเนื่อง วิทยากรเลยแนะนำให้ลด ictus ลง เพื่อทำให้ดนตรีมีความต่อเนื่อง และ ลื่นไหล (Let the music flow)
– Compound time, more forwardในบทเพลงที่เป็นอัตราผสม (compound time) ท่าทางในการอำนวยเพลงควรต้องเคลื่อนไปข้างหน้า มิฉะนั้นดนตรีจะคงอยู่กับที่ และ มีแนวโน้มจะช้าลง
– Keep music moving, show it before the beat ในบางครั้งวาทยกร ต้องแสดงสิ่งที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นล่วงหน้าแก่นักดนตรี เช่น อีก 2 ห้องจะเป็น subito pp ก็ต้องแสดงท่าทางนั้นออกมาล่วงหน้า
3. Phrasing (ประโยคเพลง)
– Less conducting the moment, more creating the climax พยายามมองโครงสร้างเพลงให้กว้างมากขึ้น ไม่ใช่เพียงประโยคเพลง 2-4 ห้อง แต่ประโยคเพลงเหล่านั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วจะทำให้เป็น ส่วนภาพที่ใหญ่ของบทเพลง ให้ลองมองภาพรวมของบทเพลงให้กว้างขึ้น จะทำให้วางแผนช่วงไคลแมกซ์ (climax) ของบทเพลงได้ดีขึ้น
– Connection of the phrase between instruments ในบางครั้งประโยคเพลงอาจมีการสลับไปมาระหว่างเครื่องดนตรีหลายชิ้น เป็นหน้าที่ของวาทยกรที่ต้องแสดง และ นำประโยคเพลงเหล่านั้นมาเชื่อมต่อกัน
– Show the direction, don’t disrupt the flow การอำนวยเพลงต้องแสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของดนตรี และ เมื่อดนตรีกำลังเคลื่อนที่ไปยังจุดๆ หนึ่งก็ไม่ควรที่จะแสดงท่าทางที่เป็นการรบกวนการเคลื่อนที่ของดนตรีนั้น เช่น ดนตรีกำลังค่อยๆ เคลื่อนไปยังไคลแมกซ์ แต่พอเมื่อใกล้กำลังจะถึงวาทยกรกลับเปลี่ยนท่าทาง หรือ ทำท่าทางที่ขัดต่อกระแสดนตรีที่กำลังไหลไปอยู่ ทำให้เมื่อถึงไคลแมกซ์แล้ว พลังงานนั้นมาได้ไม่ค่อยเต็มที่
ขอบคุณรูปจาก Apivut Junt Minalai ครับ