#midwest2018 – “Unlocking Student Musicianship in the Large Ensemble (ปลดล็อคความเป็นนักดนตรีของนักเรียนผ่านการรวมวงใหญ่)”
#midwest2018 วันที่สองกับหัวข้อการบรรยายเรื่อง “Unlocking Student Musicianship in the Large Ensemble (ปลดล็อคความเป็นนักดนตรีของนักเรียนผ่านการรวมวงใหญ่)” บรรยายโดย Patricia Cornett (Director of Bands ที่ Temple University Boyer College of Music & Dance) และ Jonathan Caldwell (Visiting Assistant Professor ที่ Virginia Tech) พูดถึงกระบวนการที่จะช่วยเสริมสร้างความเป็นนักดนตรีที่เป็นมิติอื่นนอกเหนือจากการเล่นโน้ตบนแผ่นกระดาษให้ถูกต้องโดยการนำกิจกรรมการรวมวงมาปรับใช้ผ่านด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านได้สรุปเป็น 3 ทักษะใหญ่ๆ ที่จำเป็นได้แก่: Listen (ฟัง), Respond (ตอบสนอง) และ Contribute (มีส่วนร่วม)
1. “Listen” like chamber musicians (“ฟัง” เฉกเช่นเดียวกันกับนักดนตรีเชมเบอร์)
– ฝึกเล่นโดยปราศจากวาทยกร (play without conductor): เมื่อนักเรียนเล่นวงโดยที่ไม่มีวาทยกรกำกับ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนต้องฟังกันมากขึ้น โดยธรรมชาติแล้วหากเราปล่อยให้นักเรียนเล่นไปเอง หรือ การที่ทุกคนร้องเพลงร่วมกันโดยไม่ได้นัดหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเวลาผ่านไปความเร็วของทุกคนจะค่อยๆ ปรับเข้าหากัน ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “Entrainment” ดังนั้นแบบฝึกหัดที่ควรสร้างให้กับนักเรียนคือการ “ฝึกให้นักเรียนซึมซับจังหวะย่อยที่เกิดขึ้น (student should internalised the subdivision)” (ขยาย: เช่นเวลานักเรียนเล่นโน้ตตัวขาว นักเรียนควรต้องคิดตัวดำ, เขบ็ดหนึ่งชั้น, เขบ็ดสองชั้น ฯลฯ ที่เกิดแทรกอยู่ไปด้วย)
หนึ่งในกิจกรรมเกมที่อาจารย์ได้แนะนำคือ ให้ทุกคนลองปรบมือ พร้อมนับจังหวะตามอัตราจังหวะต่างๆ ดู แล้วค่อยๆ ใส่โน้ตตัวหยุด ให้ปรบเฉพาะตัวโน้ต รอบต่อไปให้ปรบเฉพาะตัวหยุด และ กิจกรรมสามารถขยายโดยแบ่งนักเรียนอออกเป็นสองกลุ่ม … กลุ่มหนึ่งปรบ และ นับตัวโน้ต และ อีกกลุ่มทำที่ตัวหยุด เป็นต้น
อีกตัวอย่างหนึ่งคือให้นักเรียนฝึกซ้อมเปลี่ยนจังหวะของบทเพลง (tempo change) ไปด้วยกัน ทั้งตอนที่เพลงเร่งขึ้น และ ช้าลง โดยนักเรียนทุกคนต้องนับจังหวะย่อยภายในไปด้วยกัน
– Intonation: การอธิบายให้นักเรียนเข้าใจถึงระบบ Just Intonation อาจจะค่อนข้างซับซ้อน อาจารย์ได้เปิดวีดิโอนี้เพื่อเป็นสื่อสาธิตให้นักเรียนได้เห็นภาพของความแตกต่างระหว่างระบบ Just Intonation และ Equal Temperament (วีดิโอ: https://www.youtube.com/watch?v=6NlI4No3s0M)
การใช้เครื่องเทียบเสียงเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่สำคัญคือควรต้องฝึกนักเรียนให้ฟังให้เป็นมากกว่าการดูกราฟของเครื่อง (Help students use their ears rather than their eyes to adjust pitch)
กิจกรรมที่สามารถทำได้คือ ให้นักเรียนลองร้องเสียงให้ตรงกับเครื่องเทียบเสียง แล้วลองค่อยๆ ดัดเสียงให้เพี้ยนสูง และ เพี้ยนต่ำดู สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักเรียนจะสามารถฟังได้ยินว่าอะไรคือเพี้ยนสูง-ต่ำ โดยมีเครื่องเทียบเสียงเป็นภาพที่ช่วยให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น กิจกรรมที่สามารถทำได้อีกอย่างคือ ให้นักเรียนคนหนึ่งร้องเสียงเดิมค้างไว้ในขณะที่อีกคนร้องเสียงให้ค่อยๆ สูง-ต่ำลง จากนั้นก็ปรับกลับมาตัวเดิม เมื่อนักเรียนสามารถใช้เสียงทำได้อย่างถนัดแล้วจึงให้ปฏิบัติกับเครื่องดนตรี
หากมีเครื่องที่สามารถสร้างเสียงค้าง (drone) ได้ ให้เปิดเป็นคู่ 5 แล้วฝึกให้นักเรียนลองปรับเสียงให้ตรงกับคู่ 5 ดู
– นักเรียนต้องเข้าใจบทบาทของตนเองในวง (Students can develop a greater understanding of their role in the ensemble): ให้ผู้สองลองนำสกอร์เพลงมาเปิดให้นักเรียนดู แล้วอธิบายนักเรียนว่าบทบาทของตนเองกำลังทำอะไรอยู่ บางบทเพลงที่มีหลายเครื่องเมื่อดูสกอร์ครั้งแรกอาจจะเห็นว่าซับซ้อน แต่ความจริงแล้วเมื่อวิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้นจะพบหน้าที่หลักๆ อยู่สามประการได้แก่ ทำนอง (melody), เสียงประสาน (harmony) และ แนวเบส (bassline) เมื่อวิเคราะห์แบบนี้แล้วจะทำให้สามารถดูสกอร์ได้เข้าใจมากขึ้น และ จะสามารถอธิบายให้นักเรียนเข้าใจถึงบทบาทของตนเองได้ดีขึ้นกว่าเดิม
2. “Respond” to conducting gestures beyond the beat pattern (“ตอบสนอง” ต่อท่าทางการอำนวยเพลงที่มากกว่าแค่การให้จังหวะ)
– นักเรียนสามารถเข้าใจการสื่อสารโดยปราศจากคำพูดได้ (non-verbal communication) ท่าทางในการอำนวยเพลงเป็นกุญแจสำคัญของการสื่อสารนี้ โดยท่าทางในการอำนวยเพลงสามารถสื่อสารถึง สไตล์, การกำเนิดเสียง, ความเข้มเสียง (dynamic), สำเนียงเสียง (articulation) และ อารมณ์ของบทเพลงได้
หากผู้สอนต้องการให้นักเรียนเล่นแบบใด ก็ควรต้องอำนวยเพลงออกมาในลักษณะนั้น หนึ่งในคำแนะนำที่อาจารย์ให้คือ “การฝึกให้นักเรียนสังเกตความแตกต่างของท่าทางการอำนวยเพลง” ให้ลองอธิบายนักเรียนว่าให้เล่นตามแบบที่เราอำนวยเพลง ทำทั้งหมดสองครั้ง หากสองครั้งแล้วยังไม่เข้าใจ จึงอธิบายโดยใช้คำพูด เช่น
ครั้งที่ 1: ทรอมโบน ไหนเล่นให้เหมือนมือของผมหน่อย [เคลื่อนมืออย่างอ่อนไหว แสดงทำนองที่ยาว]
ครั้งที่ 2: ยังไม่ค่อยเหมือนเลย ลองดูอีกครั้ง
ครั้งที่ 3: ทรอมโบนช่วยเล่นให้อ่อนหวาน และ ทำทำนองให้ยาวขึ้นหน่อย
ผู้สอนสามารถสอนนักเรียนให้เข้าใจถึงประเด็นหลักของการอำนวยเพลงได้ ได้แก่ Preparation (ขั้นเตรียมตัว), Ictus (จุดกำเนิดเสียง), Rebound (หางเสียง) และ สามารถลองเล่นเกม “now” game ดู โดยผู้สอนให้จังหวะเริ่มต้น 1-2 จังหวะ แล้วให้นักเรียนพูดคำว่า “now” ตามลักษณะของการท่าทางของผู้สอน
3. “Contribute” to the interpretation process (“มีส่วนร่วม” ในกระบวนการตีความบทเพลง)
– ในบางบทเพลงผู้ประพันธ์ไม่ได้ให้ข้อมูลสำหรับการตีความไว้มากนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตีความของวาทยกร อาจารย์ได้ยกตัวอย่างถึง โน้ต 2 ตัวสำหรับท่อนแรกของ Symphony No.3 โดย Beethoven ซึ่งแต่ละวงเล่นออกมาไม่เหมือนกันเลย ทั้งๆ ที่บรรเลงโดยใช้โน้ตชุดเดียวกัน (วีดิโอ: https://www.youtube.com/watch?v=UnhlQUBsd6g) หากลองเปิดวีดิโอนี้ให้นักเรียนดู เชื่อว่านักเรียนก็สามารถบอกถึงความแตกต่างได้เช่นกัน
ลองเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตีความถึงโน้ตในบทเพลงดู การตีความที่แตกต่างสามารถทำได้โดยการให้ การเน้นจังหวะที่ต่างกัน, ประโยคเพลง และ สไตล์ ให้แตกต่างกัน หรือ ลองให้นักเรียนเล่นโน้ตชุดหนึ่งดูแล้วบอกให้ลองบรรเลงออกมาโดยให้คิดเสียงว่าบทเพลงนี้ประพันธืโดยนักประพันธ์เพลงที่ต่างกัน เช่น ลองเล่นในแบบโมสาร์ทดูหน่อย ลองเล่นในแบบสตราวินสกีดูหน่อย ฯลฯ (ขยาย: ทั้งนี้นักเรียนควรมีความรู้พื้นฐาน และ ประสบการณ์ในการฟังบทเพลงที่ต่างยุคสมัยกันในระดับพอสมควร จึงจะสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ)
อีกกิจกรรมหนึ่งคือการนำทำนองเพลงง่ายๆ ที่นักเรียนคุ้นเคย แล้วแบ่งกลุ่มตามเครื่องดนตรี ให้นักเรียนไปตีความและสร้างออกมาในรูปแบบของตนเอง โดยมีข้อแม้ว่าถึงจะปรับเปลี่ยนการตีความไปอย่างไร แต่ทำนองนั้นต้องยังฟังรู้เรื่องอยู่ว่าคือทำนองอะไร เมื่อนักเรียนคุ้นเคยกับกิจกรรมนี้แล้วจึงนำไปปรับใช้กับบทเพลงที่นักเรียนกำลังเรียนอยู่
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างความมีส่วนร่วม และ สร้างประสบการณ์การเป็นเจ้าของร่วม (sense of ownership) ให้กับนักเรียน
สำหรับช่วงท้ายของการนำเสนออาจารย์ให้ได้คำกล่าวไว้ว่า
Not “me” vs “them”, but “all of us together”
ไม่ใช่ “ฉัน [ผู้สอน]” ปะทะกับ “พวกเธอ [นักเรียน]” แต่เป็น “พวกเราด้วยกัน”