เราฟังอะไรในดนตรี (What to Listen for in Music)
เผยแพร่ ณ เพจ Empower Music by PK
สวัสดีครับ! ในซีรีย์บทความใหม่ชื่อเท่ๆ นี้ว่า “How to Listen to and Understand Great Music” เราจะมาพูดถึง “การฟัง” กัน … บางคนอาจเคยสงสัยว่า เราฟังดนตรียังไง ทำไมมันฟังแล้วไพเราะ หรือว่า เพลงมันยาวจังเลยไม่รู้ว่าจะเริ่มฟังจากอะไรดี … ในซีรีย์นี้เราจะมาคลายข้อสงสัยกัน
บางคนอาจสงสัยว่า “แล้วฟังดนตรีเฉยๆ ไม่ได้เหรอ ทำไมต้องมาฟังให้เข้าใจอะไรขนาดนั้นด้วย” … คำตอบนี้ไม่มีถูก-ผิดครับ การฟังขึ้นอยู่กับความสนใจ วัตถุประสงค์ และ ความต้องการของผู้ฟัง การฟังมีอยู่หลายระดับซึ่งในบทความตอนแรกนี้เราจะมาพูดถึงกัน สำหรับท่านที่ชอบฟังดนตรี หรือ เริ่มต้นฟังดนตรีใหม่ๆ และ อยากซาบซึ้ง และ เข้าใจในบทเพลงที่กำลังฟังอยู่มากขึ้น มีหนังสือเล่มนึงที่ผมคิดว่าสามารถใช้เป็นคู่มือประกอบการฟังได้เป็นอย่างดี
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “What to Listen for in Music” เขียนโดยนักประพันธ์เพลงชาวอเมริกันชื่อ Aaron Copland (แอร่อน โคปแลนด์) เขียนขึ้นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งสรุปรวมจากหัวข้อการบรรยายดนตรีต่างๆ ที่ผ่านมาของเขา… แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะถูกตีพิมพ์มานานแล้ว แต่แนวคิด เนื้อหาหลายอย่างยังคงสามารถนำมาปรับใช้ได้ในปัจจุบัน
ลองพิจารณาคำถามเกี่ยวกับการฟังสองข้อนี้ดูครับ:
“คุณได้ยินทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือเปล่า” และ “ความรู้สึกของคุณตอบสนองยังไงต่อสิ่งที่คุณได้ฟัง”
โคปแลนด์ชวนผู้อ่านตั้งคำถามเกี่ยวกับการฟัง เวลาเราฟังดนตรีไม่ว่าจะเป็นเพลงไหน การฟังในระดับที่ลึกซึ้งเกี่ยวข้องกับคำถามทั้งสองนี้ การเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของดนตรี บริบท บทบาทต่างๆ ของเสียงที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราสามารถหาคำตอบที่แจ่มชัดขึ้นต่อคำถามทั้งสองนี้ได้ การศึกษาเรื่องทฤษฎี เทคนิคการประพันธ์ อาจช่วยทำให้เราเข้าใจในเจตนา และ กระบวนการของผู้ประพันธ์แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มพูนความซาบซึ้งและความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีให้มากขึ้น นั่นก็คือ “การฟัง”
โคปแลนด์แบ่งแยกการฟังออกเป็นสามระดับ ซึ่งผมขออธิบายคร่าวๆ พร้อมยกตัวอย่างดังนี้:
- Sensuous Plane (ระดับประสาทสัมผัส) — เป็นระดับการฟังขั้นนอกสุด ฟังโดยไม่ได้ตั้งใจฟัง โดยดนตรีเป็นเพียงส่วนประกอบของบรรยากาศเฉยๆ เช่น ดนตรีที่เปิดคลอเวลาเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า เปิดเพลง Lo-fi ฟังขณะอ่านหนังสือสอบ ฯลฯ
- Expressive Plane (ระดับอารมณ์) — เป็นการฟังที่ลึกขึ้น ฟังดนตรีแล้วเกิดความรู้สึก มีอารมณ์ร่วมกับดนตรี ผู้ฟังเมื่อฟังดนตรีที่มีลักษณะเพลงที่ต่างกันมีความรู้สึกตอบสนองตามแนวเพลง แม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายว่ามันต่างกันอย่างไรได้ก็ตาม เช่น ฟังเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ประกอบฉากที่ตื่นเต้น เร้าใจ หรือ เศร้าจับใจ ฯลฯ
- Sheerly Musical Plane (ระดับการฟังดนตรีอย่างแท้จริง) — เป็นการฟังระดับลึกที่สุด ลึกถึงตัวองค์ประกอบดนตรีจริงๆ เป็นการฟังที่บริสุทธิ์โดยไม่มีอารมณ์ ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง (ซึ่งโคปแลนด์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นักดนตรีส่วนใหญ่สามารถฟังได้ลึกถึงระดับนี้ … แต่บางครั้งก็ลึกเกินไปจนทำให้หลงลืมที่จะเพลิดเพลินไปกับดนตรีในระดับอื่นๆ)
การฟังทั้งสามระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแยกกัน หากแต่การฟังทั้งสามระดับนี้เมื่อนำมาควบรวมกันจะส่งเสริมประสบการณฟัง ความซาบซึ้งและความเข้าใจในดนตรี การฟังดนตรีในระดับลึกไม่ได้มีไว้สำหรับนักดนตรีเท่านั้นแต่ผู้ฟังทั่วไปก็สามารถมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อดนตรีที่ท่านฟังได้ ดังนั้นจึงอยากขอเชิญชวนผู้อ่านให้ลองฟังดนตรีอย่างลึกซึ้งขึ้น ลองสำรวจความรู้สึก อารมณ์ ความนิดนึง ปฏิกิริยาต่อเสียงดนตรีดูว่าเป็นอย่างไร
เพลงที่แนะนำให้ลองฟังดู
- Copland—Fanfare for the Common Man
(https://www.youtube.com/watch?v=HKgk6G0lekQ) - Bach—Prelude and Fugue No.1 Well Tempered Clavier, Book 1
(https://www.youtube.com/watch?v=ZlbK5r5mBH4) - Ligeti—Atmosphères
(https://www.youtube.com/watch?v=E-bemE-bCXQ)
เรื่อง: วิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ