Ep.3.1 จังหวะ (Rhythm) ตอนที่ 1
เผยแพร่ ณ เพจ Empower Music by PK
สวัสดีครับ ครั้งนี้เรายังอยู่กับหนังสือเรื่อง “What to Listen for in Music” โดย Aaron Copland และในครั้งที่แล้วเราได้เกริ่นถึงองค์ประกอบในดนตรี ได้แก่ จังหวะ (rhythm) ทำนอง (melody) เสียงประสาน (harmony) และ สีสันเสียง (tone color) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นักประพันธ์นำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีของตน
ในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงในเรื่องของ “จังหวะ” ซึ่งจริงๆ แล้วมีเรื่องน่าพูดถึงมากมาย และเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ผมขออนุญาตนำเนื้อหานอกเหนือจากในหนังสือเล่าควบคู่กับไปด้วยนะครับ
โคปแลนด์เล่าในหนังสือถึงที่มาของจังหวะ โดยจังหวะเริ่มต้นพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์จะสามารถอ่าน และ เขียนได้ ถ่ายทอดผ่านการบอกต่อกัน จนกระทั่งเริ่มมีการบันทึกจังหวะ สั้น ยาว และ ค่อยๆ พัฒนาขึ้นต่อไปจนกลายเป็นจังหวะที่ซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ
หากผู้อ่านลองนำนิ้วมาสัมผัสที่บริเวณข้อมือ หรือ ที่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย ท่านอาจรู้สึกได้ถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ และถ้าท่านอยู่ในสถานะที่สงบนิ่ง จังหวะนี้โดยทั่วไปแล้วจะคงที่ ซึ่งจังหวะการเต้นของหัวใจนี้คือ “ชีพจร (Pulse/Beat)” นั่นเอง แล้ว Pulse ในดนตรีคืออะไรล่ะ
Pulse ในดนตรีก็คือจังหวะที่เกิดขึ้นคงที่ ถ้าเป็นในเพลงมาร์ของขบวนสวนสนามอาจจะเป็นจังหวะที่กลองใหญ่ (Bass Drum) ตีอย่างต่อเนื่อง และพูดถึงเรื่องของการขบวนสวนสนาม ท่านอาจจะเห็นคนที่เดินอยู่ข้างในก้าวเป็นจังหวะ “ซ้าย – ขวา” สลับต่อเนื่องไป ก้าวเท้าเป็น Pulse ในจังหวะที่คงที่ ซึ่งเมื่อเรานำ Pulse ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจัดกลุ่มเป็น | ซ้าย ขวา | ซ้าย ขวา | ซ้าย ขวา | … ฯลฯ เราก็จะได้เป็นอัตราจังหวะ หรือ “Meter” นั่นเอง ซึ่งจากที่ยกตัวอย่างซ้าย – ขวานี้ เราจะได้อัตราจังหวะสองโดยในหนึ่ง “ห้อง (Measure/Bar)” แบ่งออกเป็นสอง Pulse
| ซ้าย ขวา | ซ้าย ขวา |
| ♩ ♩ | ♩ ♩ |
ในดนตรีแล้วมีอัตราจังหวะมีอยู่หลายแบบขึ้นอยู่กับบทเพลง ในเพลงมาร์ชเมื่อครู่นี้เป็นอัตราจังหวะสอง (Duple Meter) ถ้าเป็นเพลงเต้นรำอย่างวอลซ์ (Waltz) โดยทั่วไปก็จะเป็นอัตราจังหวะสาม (Triple Meter) กล่าวคือในหนึ่งห้องมีสาม Pulse
| ตึ่ง แช็ป แช็ป | ตึ่ง แช็ป แช็ป |
| ♩ ♩ ♩ | ♩ ♩ ♩ |
ที่น่าสนใจคือในบางบทเพลงก็อาจจะมีอัตราจังหวะที่ผสมระหว่างกลุ่มจังหวะสองและสามควบคู่กันไป เกิดเป็นอัตราจังหวะผสม (Mixed Meter) ขึ้น เช่น ในบทเพลงแจ๊สอย่าง Take Five หรือ ทำนองหลักจากภาพยนตร์เรื่อง Mission Impossible บางบทเพลงที่มีอัตราจังหวะผสมก็เป็นลักษณะโดยทั่วไปของเพลงพื้นบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างในแอฟริกา ในอินเดีย ในรัสเซีย หรือในหลายๆ บทเพลงของ Bartok ซึ่งเป็นชาวฮังการี
| ♩ ♩ ♩ ♩ ♩ |
เรื่องของจังหวะยังมีอะไรน่าพูดถึงอีกมากมาย ยังมีเรื่องของลักษณะจังหวะ ความเร็ว (Tempo) การเน้นจังหวะ (Accent) ซึ่งขออนุญาตนำมาเล่าต่อในครั้งต่อไปนะครับ
เพลงที่แนะนำให้ลองฟังดู
- John Philip Sousa—The Stars and Stripes Forever
(https://www.youtube.com/watch?v=DRQWP-TL4gk) - Dmitri Shostakovich—Jazz Suite, Waltz No. 2
(https://www.youtube.com/watch?v=O4gQEslOKjI) - Paul Desmond—Take Five
(https://www.youtube.com/watch?v=PHdU5sHigYQ) - Béla Bartók—’Six Dances in Bulgarian Rhythm’ from Mikrokosmos
(https://www.youtube.com/watch?v=uMs8K9sZ2Qg)
เรื่อง: วิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ
เพจ: https://www.facebook.com/viskamol.ch
เว็บไซต์: https://viskamol.com