#midwest2018 – แนวทางการบรรเลงมาร์ชของ Sousa
สำหรับหนึ่งในไฮไลท์ในงาน Midwest ปีนี้คือคอนเสิร์ตในคืนสุดท้ายเป็นวงชื่อ “The New Sousa Band” อำนวยเพลงโดย Keith Brion ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการดนตรีของวง จุดเด่นของวงคือการพยายามสร้างบรรยากาศของวงให้คล้ายกับช่วงสมัยที่ Sousa มีชีวิตและทำวงของตนเองคือ “Sousa Band” ภายหลังจากคอนเสิร์ตแล้วในวันรุ่งขึ้นได้มีการสัมมนาในหัวข้อการบรรเลงเพลงมาร์ชในแบบดั้งเดิม โดยคุณ Keith ได้อธิบายสลับกับการบรรเลงบทเพลงต่างๆ ซึ่งผมขอรวมสรุปเป็นหัวข้อต่างๆ เพื่อความเข้าใจง่ายนะครับ
[Keith Brion อธิบายถึงที่มา และ แนวคิดของตนเอง]
ในช่วงปี 1979 เขาได้เล่นเพลงของ Sousa มากว่าพันรอบแล้ว ในปีต่อมาเขาจึงอยากศึกษาเพลงของ Sousa ให้ละเอียดยิ่งขึ้น จึงได้ศึกษา และ ค้นคว้าถึงแนวทางการบรรเลงในแบบดั้งเดิม เขาได้กล่าวถึงแนวคิดตนเองว่า “คอนดักเตอร์ต้องศึกษา และ เรียนรู้เรื่อยๆ” ผ่านการเล่นเพลงเดิมหลายๆ ครั้ง (power of repetition) เพราะเมื่อเล่นหลายครั้งแล้วจะทำให้เข้าใจบทเพลงยิ่งขึ้น และ จะมองเห็นมุมต่างๆ ของบทเพลงชัดเจนขึ้น เขาจึงได้ฝากถึงผู้อำนวยเพลงในงานว่า “จงคิดถึงสิ่งที่คุณรัก และ สนใจ ใช้เวลาไปกับสิ่งที่คุณรู้จักมันดี (think about what you love and care about, spend some time on something you know)”
[การบรรเลงแบบ Sousa]
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า Sousa ก่อนที่เขาจะเขียนเพลงมาร์ชนั้น เขาได้รับการศึกษาดนตรีในแบบดนตรีคลาสสิกดั้งเดิม เฉกเช่นเดียวกับ โมสาร์ท ดังนั้นเพลงของเขาจึงมีความ “ซีเรียส์” ด้วย อีกเวลาที่เขาประพันธ์เพลง เขาจะได้ยินทุกแนวเสียงในหัว และ สามารถเขียนออกมาเป็นสกอร์ได้เลย ดังนั้นเสียงของเครื่องดนตรีจึงมีความสำคัญมาก
[ความเร็วของบทเพลง]
ความเร็วของแต่ละบทเพลงของ Sousa จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับยุคสมัยที่บทเพลงนั้นประพันธ์ขึ้น ในช่วงต้น (ประมาณ ค.ศ. 1880) จะอยู่ที่ประมาณ 90 – 105 bpm ในขณะที่ช่วงกลางจะอยู่ที่ 118 – 124 bpm และช่วงปลายจะเร็วขึ้นไปอีกเล็กน้อย เครื่องดนตรีที่สำคัญและสัมพันธ์ต่อความเร็วต่างๆ คือ กลองสแนร์ เนื่องจากการใช้วิถีปฏิบัติจะต่างกันตามความเร็วบทเพลง ถ้าเป็นช่วงกลางจะใช้ Six-Stroke Roll ในขณะที่ช่วงปลายที่ความเร็วสูงขึ้นจะใช้ Five-Stroke Roll (คำแนะนำจากวิทยากร: ควรสอนนักเรียนให้ทราบความแตกต่างระหว่างวิถีปฏิบัติทั้งสองอย่างนี้ด้วย)
[อัตราจังหวะ 6/8]
การอำนวยเพลงสำหรับอัตราจังหวะ 6/8 สามารถทำได้หลายวิธี เช่น แนวตั้ง (รูปตัว J) หรือ แนวนอน Keith ได้แนะนำถึงการอำนวยเพลงสำหรับเพลงมาร์ช Sousa ที่เป็น 6/8 ว่า “ต้องใช้แนวนอน” เพราะแนวนอนจะทำให้มีพื้นที่สำหรับการเล่นส่วนโน้ตสามพยางค์ได้อย่างมั่นคง ให้คิดถึงปลายเข็มของเมโทรนอมไว้ บางครั้งเพลง 6/8 อาจจะดูยากสำหรับเด็กๆ แต่ว่าความจริงแล้ว “บางครั้งเด็กๆ สามารถเล่นกันได้อยู่แล้ว แต่ท่าทางในการอำนวยเพลงกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดหายนะขึ้น“
[เครื่องกระทบ]
- สแนร์: ให้ใช้ขนาด 15 นิ้ว โดยใช้เป็น Gut Snare (หรือสแนร์ที่คล้ายกับ Gut Snare)
- หน้าที่ของกลองสแนร์คือการเสริมแนวเสียงของฮอร์น เวลาตั้งเสียงกลองให้เสียงต่ำกว่าเสียงฮอร์น
- กลองใหญ่: ให้ตีจังหวะที่สองเบากว่าจังหวะแรก
[การเรียบเรียงเสียงประสาน และ เสียงเครื่องลม]
- เพลงที่ Sousa เขียนจะใช้สำหรับวงดุริยางค์ขบวน (marching band) แต่ในการบรรเลงจริงจะมีการเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ทุกครั้ง เช่น เมื่อเข้า Second Strain (ทำนองที่สอง) รอบแรกจะให้เล่นเบา ย้อนรอบสองจะให้เล่นดัง เป็นต้น
- Sousa ให้ความสำคัญกับเครื่องลิ้นคู่มาก (double reed instruments ได้แก่ Oboe และ Bassoon) ดังนั้นทำนองของเครื่องเหล่านี้จะมีความน่าสนใจ และ มีสีสันเฉพาะตัว ถึงขนาดว่าในช่วงสมัยนั้นนักดนตรีอเมริกาที่มีฝีมือค่อนข้างมีจำกัด Sousa จึง “นำเข้า” นักดนตรีสำหรับ Sousa Band มาจากยุโรปเลยทีเดียว
- แซ็กโซโฟน: ในช่วงปี 1920 เม้าท์พีซของแซ็กโซโฟนจะเป็นทรง Chamber Mouthpiece ทำให้มีเสียงที่นุ่ม และ เบากว่าปัจจุบัน ในหลายตำราได้กล่าวว่าแซ็กโซโฟนมีความคาบเกี่ยวระหว่างเครื่องลมไม้ และ เครื่องทองเหลือง แต่สำหรับวิถีการปฏิบัติบทเพลงของ Sousa แล้ว ให้เสียงของแซกโซโฟนกลืนเข้ากับกลุ่มลมไม้มากกว่า
[การบรรเลงโน้ตนอกเหนือจากที่ระบุไว้]
- ในช่วงที่ Sousa มีชีวิตอยู่ จะมีวิธีการปฏิบัติสำหรับการเล่นเพลงแบบต่างๆ เช่น หากค่าโน้ตยาวกว่าให้บรรเลงดังกว่าค่าโน้ตที่สั้น ฯลฯ แต่ภายหลังช่วงปี 20 วิถีนี้กลับเริ่มหายไป และ ผู้คนกลับเล่นเฉพาะตามที่เห็นบนหน้ากระดาษเท่านั้น
- สำหรับเพลงที่เป็นอัตราจังหวะ 6/8 ให้เล่นโน้ตตัวดำดังกว่าโน้ตเขบ็ดหนึ่งชั้น
- ในท่อน Trio (ตรงกลาง) หากส่วนโน้ตยาวให้เล่นดังขึ้น หากส่วนโน้ตสั้นให้เล่นเบาลง และ ควรให้ความสำคัญกับประโยคเพลง (phrase) มากๆ
- ในการปฏิบัติจริง ทุกอย่างไม่ควรต้องเหมือนกันตลอดเวลา เพราะสร้างความแตกต่าง และ สีสันที่น่าสนใจให้กับบทเพลง
[ลิงค์ศึกษาเพิ่มเติม]
สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องวิธีการปฏิบัติเพลงของ Sousa ในแบบดั้งเดิม ผมขอแนบเพิ่มไว้สองลิงค์นะครับ
- The Complete Marches of John Philip Sousa: เป็นเว็บของวงดุริยางค์ทหารอเมริกา (The Present’s Own) ซึ่งรวมเพลงมาร์ชของ Sousa ทุกเพลงที่ผ่านการเรียงเสียงใหม่เพื่อให้เสียงเหมือนกับแบบดั้งเดิม และ เรียงเสียงขึ้นสำหรับวงดุริยางค์ในปัจจุบัน ที่สำคัญ…ฟรี! – https://goo.gl/eRnVJD
- เว็บไซต์ของ The New Sousa Band: รวมบทความถึงวิธีการบรรเลงเพลงแบบ Sousa ดั้งเดิม (ภาษาอังกฤษ): https://goo.gl/xS37hi
- เป็นบทความเรื่องการเล่นเพลงมาร์ช Sousa โดย จ.ส.อ.นิสันต์ ยกสวัสดิ์ หรือ ครูหยู ซึ่งเป็นผู้ร่วมเดินทางไปกับผมในทริปครั้งนี้ครับ – https://goo.gl/RVYNCV