10 คำแนะนำเพื่อการซ้อมที่มีประสิทธิภาพ
ช่วงนี้หลายคนต้องอยู่บ้าน นักดนตรีหลายคนก็ต้องซ้อมอยู่บ้าน บางคนอาจจะกำลังหาไอเดีย หรือ แรงบันดาลใจในการซ้อมดนตรีอยู่ บางทีเราซ้อมไปตั้งนานแต่ทำไมไม่เห็นคืบหน้าเลย ผมไปเจอบทความหนึ่งที่แนะนำเกี่ยวกับเรื่องของการซ้อมที่มีประสิทธิภาพ เลยอยากนำมาแชร์ให้เพื่อนๆ ทุกคนลองอ่านดูครับ
1. สร้างบรรยากาศ (Create atmosphere)
สร้างบรรยากาศการฝึกซ้อมที่อยากได้ อาจจะเป็นห้องที่เงียบหน่อย หรือ เป็นบรรยากาศที่มีแรงกระตุ้น พยายามเลือกให้คล้ายๆ กันในการซ้อมแต่ละครั้งเพื่อเตรียมพร้อมสภาพจิตใจสำหรับการเริ่มต้นซ้อม
สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาบางคนที่ต้องใช้ห้องซ้อมรวมที่วิทยาลัย หรือ ที่โรงเรียน การสร้างบรรยากาศในแบบที่ต้องการ 100% เลยอาจจะยากสักหน่อย อาจจะลองมาที่ห้องซ้อมให้เร็วขึ้น เช้าขึ้น หรือ ลองหาเวลาที่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศในแบบของตัวเองดู
นอกจากบรรยากาศภายนอกแล้วอุปกรณ์ก็เตรียมให้พร้อมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม ดินสอ ไฮไลท์ กระดาษโน้ต เมโทรนอม จูนเนอร์ ฯลฯ
2. Warmup
เช่นเดียวกันกับนักกีฬาก่อนออกไปเล่นกีฬา นักดนตรีก็ย่อมมีการวอร์มอัพเช่นกัน โดยไม่ใช่การวอร์มอัพที่ปล่อยให้จิตใจล่องลอยในขณะที่เล่นแบบฝึกหัดซ้ำไปมา แต่ให้ถือว่าการวอร์มอัพเป็นการเตรียมพร้อมสภาพร่างกายและจิตใจสำหรับการซ้อม ลองสังเกตว่าตัวเองรู้สึกยังไง หายใจยังไง ร่างกายมีการเกร็งรึเปล่า ซ้อมแบบฝึกหัดอันนั้นทำไม
แต่ละคนอาจจะมีชุดแบบฝึกหัดของตัวเอง บางคนอาจจะเล่นสเกล ฝึกเรื่องเทคนิคนิ้ว วอร์มลม ลองหาแบบฝึกหัดที่สนใจดู เช่น การ Sight reading แบบฝึกหัดเทคนิคต่างๆ ถ้าต้องการจะซ้อมสเกลอาจจะลองดูว่าเพลงที่เล่นอยู่ในคีย์อะไร และ อาจจะโฟกัสที่สเกลนั้น
ในบทความยังบอกว่าภายหลังจากการซ้อมให้ลองเล่นเพลงที่เคยเล่นได้ดีอยู่แล้วมาเพื่อเป็นการคูลดาว์น (cool-down) ทำให้เรารู้สึกดีกับการเล่นดนตรีของตัวเอง
3. ตั้งเป้าหมาย (Have a goal)
การซ้อมไม่ใช่เพียงแค่การเริ่มต้นเล่นตั้งแต่ต้นเพลงไปจนจบเพลงเท่านั้น ลองกำหนดจุดในการฝึกซ้อมดูว่าจะทำอะไรบ้าง ลองทำเป้าหมายนั้นให้เล็กลงเป็นจุดย่อยๆ ค่อยๆ เคลียร์ไปทีละจุดเพื่อที่เราจะได้รู้สึกถึงชัยชนะในการค่อยๆ เคลียร์ไปทีละด่าน
4. ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ (Be realistic)
บางคนอาจจะเคยตั้งเป้าหมายว่าเดี๋ยวไปเคลียร์ทุกอย่างเอาตอนใกล้ๆ เล่นจริงแล้วกัน ซึ่งบางคนอาจจะทำได้ บางคนก็อาจจะทำไม่ได้ แล้วไปหลุดในระหว่างการเล่นก็มี แต่ถ้าเราค่อยๆ ซ้อมโดยตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ ในระยะเวลาที่เรากำหนดแล้วทำโดยสม่ำเสมอ มันจะส่งผลในระยะยาวที่ดีกว่า
การซ้อมเป็นเรื่องของคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณที่ยาวนานอย่างเดียว ถ้าเรากำหนดเป้าหมายระยะสั้น และ เลือกจุดที่ต้องการจะซ้อม เราก็จะค่อยๆ ทลายกำแพงของจุดที่เล่นไม่ได้ในบทเพลงไปเรื่อยๆ
5. วิเคราะห์และแก้ปัญหา (Identify and overcome the problems)
อย่างที่ได้กล่าวมาว่าการซ้อมไม่ใช่แค่การเล่นตั้งแต่ต้นจนจบวนไปมา ไม่ใช่การเล่นในจุดที่ผิดและเมินเฉยต่อมัน ลองวิเคราะห์ดูว่าทำไมถึงเล่นผิด เพราะไม่เข้าใจจังหวะ ใช้นิ้วผิด หรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น และลองหาวิธีในการแก้ไขปัญหา
ทุกปัญหาอาจใช้หลายวิธีในการแก้ เช่น ถ้ามีปัญหาในเรื่องของจังหวะ อาจจะลองเล่นแค่จังหวะโดยใช้โน้ตแค่ตัวเดียว เล่นกับเมโทรนอม เริ่มจากช้าๆ หรือ อาจจะเขียนส่วนโน้ตออกมาใหม่ให้เราเข้าใจมันมากขึ้นก็ได้ จากนั้นพอเข้าใจจังหวะแล้วจึงใส่โน้ตกลับเข้าไป ค่อยๆ ซ้อมไปทีละจุด
6. การเป็นนักดนตรีมีอะไรมากกว่าแค่การเล่นโน้ต (Being a musician is much more than just playing the notes)
มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่เราจะต้องเข้าใจในเครื่องดนตรีของเรา บทเพลง ประวัติเกี่ยวกับเพลง ทำไมเพลงถึงเขียนออกมาแบบนั้น เช่น ถ้าเราร้องเพลงในภาษาต่างประเทศ ให้ลองไปหาคำแปลของเนื้อเพลง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจในเนื้อเพลงและความหมายอย่างถ่องแท้ ลองหาเวลาไปฟัง Recording ลองศิลปินท่านอื่นๆ แล้วลองวิเคราะห์ดูว่าอะไรทำให้เขาเล่นออกมาได้ดี
การจินตนาการว่าตนเองกำลังเล่นดนตรีอยู่บนเวทีก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์เช่นกัน ให้ลองจินตนาการว่าเรากำลังเล่นเพลงที่เรากำลังซ้อมอยู่อย่างยอดเยี่ยมบนเวที นึกถึงเสียงที่เรากำลังจะเล่นออกมา นี่เป็นการฝึกสภาพจิตใจตัวเองรูปแบบหนึ่ง อาจจะลองใช้เวลาว่างในขณะที่เรานั่งอยู่บนรถไฟฟ้า แล้วลองจินตนาการดูก็ได้
7. เขียนลงไปในโน้ตเพลง (Write on your music)
อย่ากลัวที่จะต้องเขียนลงไปในโน้ตเพลง (แต่ถ้าเกิดบางเพลงที่เราหวงแหนโน้ตมาก อาจจะไปถ่ายโน้ตออกมาชุดนึง แล้วเขียนลงในโน้ตที่ถ่ายมาแทน) ถ้าเราเล่นพลาดรอบนึงอาจจะจำไว้ แต่ถ้าพลาดบ่อยๆ การจดไว้อาจจะช่วยให้ผิดน้อยลง ใช้ไฮไลน์ในการเขียนความดังเบา การเปลี่ยนคีย์ หรือ สิ่งที่เราต้องการเน้นย้ำในบทเพลง
8. บันทึกตัวเอง (Record yourself)
ในแต่ละครั้งของการซ้อมลองบันทึกเสียงของตัวเองดูเพื่อกลับมานั่งฟังใหม่และวิเคราะห์การเล่นของตัวเองเพื่อนำไปปรับปรุงในการซ้อมครั้งต่อไป หรืออาจจะลองบันทึกวีดิโอดูก็ได้ เพื่อที่จะได้เห็นตัวเองเล่นว่าท่าทางในการเล่นเป็นยังไง มีการเกร็งเกิดขึ้นรึเปล่า
9. อยู่ในสภาพจิตใจที่พร้อม (Be in the right frame of mind)
เราทุกคนเป็นมนุษย์ และในบางครั้งก็อาจจะรู้สึกสภาพจิตใจไม่พร้อมในการซ้อมจริงๆ ถ้าเช่นนั้นการยิ่งเข้าไปซ้อมอาจจะส่งผลให้เล่นผิดมากขึ้น ประสิทธิภาพในการซ้อมก็ลดลง นอกจากว่าเวลาซ้อมไม่มีแล้วจริงๆ อาจจะลองหาเวลาพักให้ตัวเอง หรือ อาจจะลองใช้เวลาสัก 10-20 นาทีในการเล่นเพลงที่เราชอบ เพลงที่เราคุ้นเคยเพื่อเป็นการพัก เพราะท้ายที่สุดแล้วการเล่นดนตรีให้ยอดเยี่ยมบางครั้งอาจจะต้องแลกมาด้วยความกดดัน ความเครียดแต่อย่าลืมที่จะมีความสุข และ สนุกกับมันด้วย
10. ให้รางวัลตัวเอง (Reward yourself)
หลังจากการซ้อมแต่ละครั้ง ทบทวนว่าตัวเองเป็นยังไง ลองหาทางชื่นชมตัวเองในมุมบวก ความพยายามของเรา ความสุดยอดของเราในการเล่นดนตรี ซ้อมเสร็จลองไปหาของอร่อยๆ กินดู!
แปล และ เรียบเรียงจาก: https://bit.ly/3txhtBM
เขียนโดย วิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ