วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ในห้องเรียนดนตรีออนไลน์ [Constructive Criticism in Online Music Classroom]
“อยากให้พูดถึงขั้นตอนในการทำเพลงหน่อยครับ”
“ชอบ ไม่ชอบตรงไหน ตรงไหนคิดว่าควรปรับปรุง เราจะทำยังไงให้เพลงเพื่อนดีขึ้น เจ๋งขึ้นได้?”
นี่เป็นหนึ่งในชุดคำถามที่ผมมักจะนำมาถามนักเรียนเวลาวิเคราะห์เพลง หรือ พูดถึงดนตรีต่างๆ (ในวีดิโอนี้คือคลาสดนตรี ม.2 ที่ให้นักเรียนลองไปทำเพลงใน GarageBand ดู)
ผมเชื่อว่าหนึ่งในทักษะที่สามารถช่วยปลูกฝังให้กับนักเรียนที่น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตคือ “การวิเคราะห์” … คำถามนำอย่าง “ยังไง” “ทำไม” และตามด้วย “อะไร” เป็นตัวอย่างของชุดคำถามที่ผมเลือกนำมาใช้ เช่น
(ถามคนแต่ง)
1. มีขั้นตอนในการทำเพลงยังไง / ฟอร์มของเพลงนี้เป็นยังไง
2. ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น (เช่น นร. บอกว่า อยากให้ฟังดูแล้วสนุก)
3. อะไรทำให้ … (เช่น อะไรทำให้รู้สึกว่าฟังแล้วสนุก [เพราะจังหวะกลอง ฯลฯ])
สำหรับเพื่อนคนอื่นๆ ในชั้น ก็สามารถร่วมมีส่วนร่วมในการฟัง และ วิจารณ์ไปด้วยกันได้ โดยการวิจารณ์นั้นก็พยายามนำให้เป็น “วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ (constructive criticism)” โดยแรกๆ ส่วนใหญ่มักจะไม่กล้าวิจารณ์จุดที่ไม่ดี หรือ จุดที่ไม่ชอบ ผมเลยแนะนำนักเรียนว่า “มันโอเค ที่เราจะรู้สึกไม่ชอบ หรือ ไม่เห็นด้วยกับเพื่อนของเรา … แต่เราควรสามารถอธิบายเพื่อนได้ว่า ทำไม อะไรทำให้คิดแบบนั้น และ สามารถปรับปรุงยังไงได้บ้าง”
(ถามคนวิจารณ์)
1. ชอบ ไม่ชอบตรงไหน คิดเห็นยังไงบ้าง
2. ทำไมถึงคิดแบบนั้น ทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น
3. อะไรทำให้คิดแบบนั้น อะไรทำให้รู้สึกแบบนั้น
หนึ่งในสิ่งที่ทำเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถวิเคราะห์ได้มากขึ้น และ อธิบายได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น คือ การแนะนำ “คลังคำศัพท์” เพื่อช่วยให้สามารถอธิบายได้ เช่น สนุก (เพราะจังหวะมันเร็ว จังหวะกลองมันซับซ้อน) เบลอๆ มั่วๆ (เสียงประสานไม่ชัด จังหวะมาไม่พร้อมกัน) ฯลฯ
27/1/2021