What is Flexible Ensemble? (Flexible Ensemble คืออะไร)
หลายวงที่จำนวนสมาชิกในวงน้อย อาจจะเคยเจอปัญหาแบบนี้
- ซื้อโน้ตวงใหญ่มาแล้วจำนวนสมาชิกไม่พอที่จะเล่นครบทุกแนว
- สมาชิกสลับไปมา สมาชิกมาใหม่ยังไม่แข็งแรง
- เมื่อสมาชิกไม่ครบตามโน้ต แนวเสียงที่เล่นออกมาไม่สมบูรณ์
จึงมีการเรียบเรียงบทเพลงที่เป็น Flexible Ensemble (เฟล็กซิเบิลอองซอมเบิล) ขึ้นมา เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยไม่ว่าสมาชิกในวงจะมีน้อยหรือมาก หากเล่นโน้ตที่เป็นแบบ Flexible Ensemble จะได้ยินแนวเสียงครบถ้วนสมบูรณ์
ความหมาย
Flexible Ensemble คือ โน้ตดนตรีที่เรียบเรียงขึ้นตามแนวเสียงสูง-ต่ำ (เช่น Soprano, Alto, Tenor, Bass) ของเครื่องดนตรีในวง โดยบทเพลงแบ่งออกเป็นแนวเสียงต่างๆ ตามจำนวนที่ผู้ประพันธ์/เรียบเรียงกำหนด เช่น 3–8 แนว (Part) ซึ่งภายในแต่ละแนวประกอบด้วยเครื่องดนตรีในช่วงเสียงใกล้เคียงกัน ถูกกำหนดให้เล่นโน้ตดนตรีแบบเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น Part 1 เล่นแนวเสียง Soprano อาจประกอบด้วย Flute, Oboe, Clarinet in Bb, Trumpet, Violin โดยทั้งบทเพลงเครื่องดนตรีภายใน Part 1 เหล่านี้จะบรรเลงโน้ตเหมือนกันทั้งหมด (อาจมีการสลับ Octave ตามความเหมาะสมของเครื่องดนตรี)
Open Instrumentation / คิดเครื่องดนตรีเป็นแนวเสียง
ลักษณะบทเพลงที่ไม่ได้กำหนดเครื่องดนตรี (Open Instrumentation) แบบ Flexible Ensemble นี้ อาจฟังดูแล้วเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของวงดุริยางค์ในยุคปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วบทเพลงที่เปิดให้ใช้เครื่องดนตรีอะไรก็ได้แบบนี้ มีมาตั้งแต่สมัยยุคฟื้นฟูสมัยศิลปวิทยาการ (Renaissance) แล้ว เช่น
Canzon per sonar primi toni a 8, Ch. 170 (ประพันธ์ขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1597) ของ Giovanni Gabrieli (ค.ศ. 1554/1557 – 1612) กำหนดขึ้นสำหรับผู้เล่น 8 แนวเสียง แบ่งออกเป็น เสียงสูง (Cantus) 2 แนว เสียงกลาง (Altus) 2 แนว เสียงต่ำ (Tenor และ Bassus) 4 แนว
ตัวอย่างการแบ่งแนวเสียงในเพลง มาร์ชอาชา
สำหรับผมเอง ได้มีการนำบทประพันธ์ของตนเองมาจัดทำเป็น Flexible Ensemble ด้วยเช่นกัน เช่น มาร์ชเจ้าพระยา และ มาร์ชอาชา โดยผมเลือกที่จะแบ่งแนวเสียงออกเป็นทั้งหมด 6 Part ดังนี้
โดยแบ่งเสียงสูง-ต่ำดังนี้
- Soprano: PART 1–2
- Alto: PART 3–4
- Tenor: PART 5
- Bass: PART 6
ในรูปเปรียบเทียบ (คลิกที่รูปเพื่อชมรูปใหญ่) ระหว่างหน้าสกอร์วงใหญ่ (Full Band) และ แบบ Flexible Ensemble นี้ ผมได้ใช้เสียงต่างๆ ในการระบุแนวเสียงต่างๆ โดยหากดูจาก Full Band จะพบว่า ภายในเครื่องดนตรีหนึ่ง อาจมีบทบาทการเล่นในแนวเสียงต่างๆ ซึ่งในการทำเป็น Flexible Ensemble นั้น ผู้เรียบเรียงต้องพิจารณาทั้งบทบาทในการเล่น และ เสียงสูง-ต่ำของเครื่องดนตรี
หวังว่าในบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ ท่านที่สนใจในบทเพลงแบบ Flexible Ensemble นะครับ ในบทความครั้งต่อไปจะเขียนเกี่ยวกับการทำบทเพลงให้กลายเป็น Flexible Ensemble รอติดตามชมกันนะครับ
เขียนโดย
วิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ
ประชาสัมพันธ์ / รับชมเพิ่มเติม
ผมเคยได้เชิญวาทยกรผู้เชี่ยวชาญที่เคยนำบทเพลง Flexible Ensemble มาใช้ มาคุยกันเกี่ยวกับ Flexible Ensemble ในรายการ Compose with Me ท่านที่สนใจสามารถรับชมได้ที่นี่ครับ Compose with Me [Ep.13] | Talk: All about Flexible Ensemble | Viskamol Chaiwanichsiri
แหล่งอ้างอิง
Chaiwanichsiri, Viskamol. Aacha March. Bangkok: Viskamol Music, 2023.
Gabrieli, Giovanni. Canzon primi toni à 8. Edited by Allen Garvin. Dallas: Hawthorne Early Music, 2016.
Panapongpaisarn, Adiwach. 2023. “‘Lanna Suite’ for Flexible Ensemble”. Rangsit Music Journal 18 (2):116-30. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/rmj/article/view/258528.
Sweeney, Michael. “The Story behind Flex-Band.” SBO Plus!, March 6, 2021. https://sbomagazine.com/the-story-behind-flex-band/.
“Open Instrumentation Sheet Music.” Musopen. Accessed December 6, 2023. https://musopen.org/music/instrument/open-instrumentation/#google_vignette.